จะร้อนไปถึงไหน

heat

ในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา เราได้ยินข่าวการเตือนเกี่ยวกับอุณหภูมิของอากาศ ซึ่งกรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่ามีอุณหภูมิสูงถึง           43C -44C  กระทรวงสาธารณสุขได้เตือนให้ประชาชนดูแลสุขภาพ ตลอดจนข่าวคราวการเสียชีวิตเนื่องจากอากาศร้อน ปัญหานี้ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทยหรือในประเทศที่โดยทั่วไปมีอากาศร้อนเท่านั้น แต่ยังเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในแถบยุโรปซึ่งมีผู้เสียชีวิต 5,000 คน ใน ค.ศ. 2003 และมีผู้เสียชีวิตในประเทศสหรัฐอเมริกาประมาณ 8,015 ราย ระหว่าง ค.ศ. 1979-2003

ในสหรัฐอเมริกา คณะนักวิทยาศาสตร์คณะหนึ่งได้ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง มลพิษทางอากาศ การสาธารณสุขและการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศในรัฐโรดไอร์แลนด์ โดยรวบรวมข้อมูลจากโรงพยาบาลเฉพาะผู้ป่วยที่ป่วยเนื่องจากอากาศร้อนใน ค.ศ. 2005- 2012 รวมทั้งข้อมูลอุณหภูมิในช่วงปีดังกล่าว พบว่าอุณหภูมิที่สูงขึ้นมีความสัมพันธ์กับการป่วยด้วยโรคทางไต โรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคทางเดินหายใจและ พบว่าเมื่ออากาศมีอุณหภูมิสูงขึ้นจาก 24C ถึง 29C จำนวนผู้ป่วยสูงขึ้นระหว่างร้อยละ 1.3 ถึง 24 ขณะเดียวกันผู้ป่วยที่เสียชีวิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4  นั่นคือ จำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตจะสูงขึ้นเมื่ออุณหภูมิของอากาศสูงขึ้นจาก 24C

คณะนักวิทยาศาสตร์อีกคณะหนึ่งได้ศึกษาความสัมพันธ์อากาศร้อนกับการเพิ่มขึ้นของโรคหืด นักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลของผู้ป่วย ในรัฐแมรีแลนด์ระหว่าง ค.ศ. 2000-2012 พบว่าอากาศที่ร้อนมาก ๆ ทำให้มีผู้ป่วยด้วย โรคหืดเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล       อย่างน้อยเฉลี่ยปีละ 3 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงฤดูร้อนมีจำนวนเพิ่มขึ้นถึง 8 เท่า ผู้ป่วยต้องใช้ยาพ่นเพื่อให้หายใจได้สะดวก การที่เป็นเช่นนี้ อาจเป็นผลมาจากการที่แพ้อากาศที่ร้อนไป และอากาศร้อนทำให้ต้องใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้นจนทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ ก่อให้เกิดหมอกควัน (smog) ซึ่งส่งผลให้ปอดเกิดการระคายเคือง

นอกจากนี้ยังมีคณะนักวิทยาศาสตร์อีกคณะหนึ่งศึกษาวิจัยในรัฐนิวเจอร์ซี โดยรวบรวมข้อมูลของผู้อาศัยระหว่าง ค.ศ.2004 – 2009 ตามเขตสำมะโนประชากรซึ่งแต่ละเขตมีประชากรประมาณ 4,000 คน และรวบรวมข้อมูลมลพิษระดับต่าง ๆ ในแต่ละเขตได้จากดาวเทียมของนาซา และสถานีควบคุมภาคพื้นดินซึ่งข้อมูลนี้อยู่ในการดูแลของหน่วยงานด้านการป้องกันสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา พบว่าเมื่ออากาศมีอนุภาคหรือฝุ่นขนาดเล็กทั้งที่มองเห็นและมองไม่เห็นด้วยตาเปล่ามีปริมาณเพิ่มขึ้น อัตราการตายจะสูงขึ้น และในช่วงฤดูร้อนที่มีอากาศร้อนมากก็ยิ่งทำให้เกิดมลพิษทางอากาศมากขึ้นด้วย

จากการศึกษานี้เป็นประจักษ์พยานให้เห็นได้ว่า ความร้อน มลพิษทางอากาศส่งผลต่อสุขภาพและต่อชีวิตของมนุษย์ได้                 ดังนั้นเราควรร่วมมือกันในการลดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะก่อให้เกิดอากาศร้อนเกินไป เกิดมลพิษทางอากาศลงเพื่อให้ได้สิ่งแวดล้อมดี และชีวีมีสุขกันทุกคน

ข้อมูลเพิ่มเติม

หอบเหนื่อย (ตอนจบ). Retrieved  June 30, 2016,  https://www.doctor.or.th/article/detail/4155

ช่วงหน้าร้อน ระวังโรคลมแดด อันตรายถึงตาย. Retrieved  June 30,  2016,  https://www.moph.go.th/index.php/news/read/120

การเจ็บป่วยที่เกี่ยวเนื่องจากภาวะอากาศร้อน ( Illness related to hot weather).   Retrieved  June 27, 2016, www.boe.moph.go.th/files/news/20140326_1730455.pdf

Heat sickness. Student Science.  Retrieved June 24, 2016,  https://student.societyforscience.org/article/heat-sickness?mode=topic&context=39


ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง

สาระที่ 2 : ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
ว. 2.2 ม. 3/5  อภิปรายปัญหาสิ่งแวดล้อมและเสนอแนวทางในการแก้ไข
ว. 2.2 ม. 3/6  อภิปรายและมีส่วนร่วมในการดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

Comments

comments

You May Also Like