กลัวเมื่อเห็นเหรอ

เมื่อชมสารคดีเกี่ยวกับสัตว์โดยเฉพาะการล่าเหยื่อของสัตว์ที่เป็นผู้ล่า บางครั้งเมื่อผู้ล่าปรากฏ เหยื่อจะกลัวและวิ่งหนี แต่บางครั้งเหยื่อจะยืนมองอย่างระแวดระวัง เคยสงสัยบ้างหรือไม่ว่า ความกลัวของเหยื่อนั้นเกิดขึ้นเพราะเห็นตัวผู้ล่าทุกครั้งหรือไม่

raccune

โดยทั่วไปมักคิดว่าเมื่อเหยื่อเห็นผู้ล่าจะรู้สึกกลัว แต่นักนิเวศวิทยาจาก University of Victoria ประเทศแคนาดา เกิดความสงสัยว่า “หากเหยื่อได้ยินเสียงของผู้ล่าแต่ไม่มีผู้ล่าอยู่ในที่นั้น ๆ จะกระตุ้นให้เหยื่อกลัวหรือไม่” จึงได้ศึกษาจากบริเวณเกาะ 2 แห่ง       ที่มีสัตว์หลายชนิด เช่น สุนัขบ้าน สิงโตทะเล แมวน้ำ และแรคคูน อาศัยอยู่ในบริเวณเดียวกัน ซึ่งแรคคูนเป็นเหยื่อของสุนัขบ้าน
เขาได้บันทึกเสียงของสุนัขบ้าน สิงโตทะเลและแมวน้ำ พร้อมทั้งติดตั้งเครื่องขยายเสียงไว้ตามชายฝั่งของเกาะทั้งสองแห่ง         เปิดเสียงของสุนัขบ้าน เสียงสิงโตทะเล และเสียงแมวน้ำ ที่ได้บันทึกไว้ผ่านเครื่องขยายเสียง จากการศึกษาเป็นเวลา 1 เดือน พบว่าเมื่อเปิดเสียงสิงโตทะเล หรือเสียงแมวน้ำ แรคคูนไม่แสดงความรู้สึกกลัว แต่เมื่อเปิดเสียงสุนัขแรคคูนจะกลัวและไม่กล้าออกหาอาหาร ในช่วงเวลา 1 เดือนที่ศึกษา  แรคคูนใช้เวลาในการออกหาอาหารลดลง ร้อยละ 66

นอกจากคณะดังกล่าวแล้ว ยังมีนักนิเวศวิทยากลุ่มอื่น ๆ ได้ศึกษาในเรื่องการกระตุ้นความกลัวของสัตว์ที่เป็นเหยื่อโดยใช้กลิ่นจากสัตว์ที่เป็นผู้ล่า เช่น ปัสสาวะสุนัขจิ้งจอก  มูลหมี รวมทั้งบันทึกเทปเสียงคำรามของสิงโตและเสียงหอนของสุนัขจิ้งจอกตลอดจนเสียงลิง เสียงน้ำตก แล้วนำก้อนหิมะที่มีกลิ่นจากสัตว์และเสียงต่าง ๆ ที่ได้บันทึกไปยังบริเวณที่มักเห็นสุนัขจิ้งจอกอยู่เสมอ           พบว่ากวางที่อาศัยในบริเวณนั้นจะรู้สึกกลัวหรือวิ่งหนีเมื่อถูกก้อนหิมะที่มีกลิ่นปัสสาวะของสุนัขจิ้งจอก หรือเมื่อได้ยินเสียงหอนของสุนัขจิ้งจอก  แต่กวางไม่แสดงให้เห็นว่ากลัวเมื่อถูกมูลหมีรวมทั้งเมื่อได้ยินเสียงอื่น ๆ  จึงอาจกล่าวได้ว่าสิ่งที่กระตุ้นให้กลัวนั้นไม่จำเป็นที่เหยื่อต้องเห็นตัวผู้ล่า เพียงได้ยินเสียงหรือได้กลิ่นจากตัวผู้ล่าก็มีผลต่อความกลัวของเหยื่อได้

สิ่งที่คณะนักนิเวศวิทยาพบนี้เกิดขึ้นจากการสังเกตแล้วสงสัย นำไปสู่การศึกษา สำรวจตรวจสอบและจากการสังเกตขณะศึกษาก็ยังทำให้พบความรู้ใหม่อีกว่า ความกลัวของเหยื่อช่วยปรับเปลี่ยนระบบนิเวศได้  ลองคิดดูว่าเป็นไปได้อย่างไร

ข้อมูลเพิ่มเติม

Fear of predators can alter entire ecosystems. (2016). New Scientist. 229 (3062), pp9.

Eisenberg, C. Living in a Landscape of Fear: How Predators Impact an Ecosystem. The Sciences. Retrieved

March 23, 2016, from http://www.scientificamerican.com/article/predators-create-landscape-of-fear/


ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง

สาระที่ 2: ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
ว 2.1/2 วิเคราะห์และอธิบายความสัมพันธ์ของการถ่ายทอดพลังงานของสิ่งมีชีวิตในรูปของโซ่อาหารและสายใยอาหาร

สาระที่ 8: ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ว 8.1 ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ในการสืบเสาะหาความรู้ การแก้ปัญหา รู้ว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มีรูปแบบที่แน่นอนสามารถอธิบายและตรวจสอบได้ภายใต้ข้อมูลและเครื่องมือที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้น ๆ เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมและสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กัน

Comments

comments

You May Also Like