ฝนแล้งปีนี้ นาอินทรีย์ยังสบายสบาย

ปี 2558 ภาวะฝนแล้งได้ส่งผลกระทบในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย อย่างที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน ดินแดนที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญที่สุดของประเทศ ตลอดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ขาดน้ำที่เคยหล่อเลี้ยงคลองชลประทาน ไม่เพียงข้าวนาปรังซึ่งชาวนาภาคอื่น ๆ แทบจะไม่เคยทำเพราะอาศัยเพียงน้ำฝน แต่ข้าวนาปี    ของชาวนาไทยก็อยู่ในอาการวิกฤติ เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลหามาตรการช่วยเหลือ ทั้งการทำฝนเทียม จัดระบบปันน้ำ ให้ทั่วถึงเพื่อหลีกเลี่ยงการวิวาท จนไปถึงขั้นต้องขุดเจาะน้ำบาดาล เพื่อมาหล่อเลี้ยงต้นข้าวที่กำลังจะยืนแห้งตาย


เมื่อลงไปในสถานที่จริงบางแห่ง เช่นภาพที่นำมาแสดงนี้คือ บริเวณอำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นภาพในโครงการ “ชวนคนกรุงทำนาปลูกข้าวกินเอง” ซึ่งดำเนินการโดยคุณเหรียญ ใกล้กลาง นักวิชาการ ประจำมูลนิธิข้าวขวัญ 13/1 หมู่ 3 ถนน เทศบาลท่าเสด็จ 1 ซอย 6 ตำบลสระแก้ว อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี 72230
เราจะเห็นว่า นาสามแปลงที่อยู่ใกล้ชิดกันนี้แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เหตุผลอธิบายได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ คือ เรื่องดิน นาอินทรีย์ที่ทำมาหลายปีการเตรียมดินจะไม่เผาตอซัง ไม่ใช้ยาฆ่าหญ้า แต่จะไถและย่ำให้หญ้าเน่าเปื่อยเป็นฮิวมัสอยู่ในนา ทำให้อุ้มน้ำได้ดีและยาวนานกว่า แม้ขาดฝนนานถึงเกือบเดือนก็ยังคงเขียวสด เรื่องที่สอง คือ ระบบการปลูก นาอินทรีย์ เป็นการทำแบบนาดำ ข้าวกล้าที่นำมาดำสูงฟุตกว่า ๆ แล้วการเจริญเติบโตจึงไวจนหญ้าและวัชพืชตามไม่ทัน อีกทั้ง ยังมีระยะห่างระหว่างกอ แสงแดด ลมแทรกผ่านได้ดีไม่แน่นเบียดเหมือนนาหว่าน  ที่หญ้าและวัชพืชโตแซงข้าว มีโรคและแมลงเยอะกว่า ยิ่งทำนาอินทรีย์ยาวนาน ดินก็จะดีขึ้นเรื่อย ๆ
ทุกวิกฤติย่อมมีโอกาส ถึงเวลาแล้วหรือยังที่วิกฤติฝนแล้งปีนี้จะเปลี่ยนใจชาวนาส่วนใหญ่ให้หันมาทำนาอินทรีย์ ที่คนปลูกได้กำไรมากกว่าเพราะใช้ต้นทุนน้อยกว่า ไม่มีค่าเมล็ดพันธ์ เพราะชาวนาคัดเลือกข้าวเปลือกเก็บเป็นเมล็ดพันธ์ไว้เอง ค่ายา ค่าปุ๋ย ก็ไม่มีอีก เพราะทำเองจากพืชสมุนไพร จุลินทรีย์ใกล้ตัว ดังนั้น ข้าวอินทรีย์นี้ คนกินปลอดภัย ระบบนิเวศในนากลับมามีแมลงตัวห้ำตัวเบียนช่วยขจัดแมลงร้ายศัตรูข้าวมากขึ้น ผักหญ้าในนาข้าว เก็บกินได้   อย่างปลอดภัยสบายใจ

ขอบคุณภาพและข้อมูลกระบวนการทำนาอินทรีย์ จากโครงการชวนคนกรุงปลูกข้าวทำนากินเอง ของคุณเหรียญ ใกล้กลาง นักวิชาการประจำมูลนิธิข้าวขวัญ อำเภอเมือง สุพรรณบุรี

คำแนะนำสำหรับครู
กิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับปรากฏการณ์ฝนแล้งและการทำนาอินทรีย์นี้ ครูสามารถสร้างปฏิบัติการ  และนำไปสู่การตั้งคำถามเพื่อทำโครงงานต่อไป โดยอิงคุณสมบัติของดิน เช่น การหาปริมาณของอินทรียสารในดิน การหาความชื้นในดิน ซึ่งเป็นเรื่องโดดเด่อนของดินในนาอินทรีย์ รวมทั้งพืช แมลง และระบบนิเวศในนาอินทรีย์ เช่นการเปรียบเทียบโครงสร้างภายในของต้นข้าว แมลง พืชในนาที่นำมาบริโภคได้


ข้อมูลเพิ่มเติม
คู่มือการทำนาอินทรีย์ ของ มูลนิธิข้าวขวัญ สามารถอ่านแบบออนไลน์ได้ที่นี่

ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง

สาระที่ 2 : ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม

ว 2.2 ม.3/6 อภิปรายและมีส่วนร่วมในการดูแลและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน

Comments

comments

You May Also Like