จากกาวน้ำธรรมดา แปลงร่างเป็นสไลม์

คุณเคยได้ยินคำว่า สไลม์ไหมครับ ทีแรกผมได้ฟังต้องเอียงหูฟังอีกสามรอบจากลูกศิษย์ว่าอะไรนะ สไลม์ค่ะครู มันคืออะไรล่ะ ผมก็อยากรู้ มาฟังลูกศิษย์ผู้ทำสไลม์ขายเล่าให้ฟังกันเลยครับ

สไลม์ (Slime) คือของเล่นเด็ก ๆ ค่ะครู ใช้อุปกรณ์ง่าย ๆ ทำเสร็จแล้วมีลักษณะเหนียว ยืดได้ ปั้นเป็นก้อนได้ สามารถเป่าเป็นลูกโป่งได้ ปั้นเป็นก้อนบริหารกล้ามเนื้อมือได้ หรือนำสไลม์มาทำความสะอาดฝุ่นที่เกาะตามสิ่งของ เครื่องใช้ต่าง ๆ ได้อีกด้วย มาทำสไลม์กันดีไหมค่ะ

อุปกรณ์

อุปกรณ์การทำสไลม์ ได้แก่ ถ้วยพลาสติก 2 ใบ ช้อน กาวน้ำ กรีเซอรีน สีผสมอาหาร

วิธีทำ

วิธีการทำสไลม์ทำไม่ยาก เริ่มจากนำกาวน้ำ 2 ช้อน ผสมน้ำ 1 ช้อน ผสมในถ้วย แล้วคนให้เข้ากัน ส่วนถ้วยอีกใบก็ผสมกันระหว่างกรีเซอรีน 1 ช้อน น้ำ 1ช้อน แล้วคนให้เข้ากัน จากนั้นนำสารทั้ง 2 ถ้วยมาเทผสมกัน คนให้เข้ากันถ้าต้องการสีสันก็ผสมสีผสมอาหารลงไป เมื่อคนไปสักพัก สไลม์ก็จะเหนียวหนืดขึ้นมา จากนั้นนำมาปั้นเป็นก้อน เราสามารถดึงเป็นเส้นยืดหรือทำเป็นแผ่นได้

สไลม์ คือสารพอลิเมอร์ (polymer) ที่มีคุณสมบัติเฉพาะเป็นทั้งของแข็งและของเหลว เมื่อนำสารเคมี ได้แก่ กาวน้ำ กรีเซอรีน น้ำ นำมาผสมกันในอัตราส่วนที่พอเหมาะแล้วคนให้เข้ากันจะเกิดความเหนียวหนืดขึ้นมา เมื่อนำมานวดให้เข้ากันสามารถยืดเป็นเส้นยาว ๆ ได้

การทำสไลม์ไม่จำเป็นต้องใช้ กรีเซอรีน กาวน้ำใส น้ำ สีผสมอาหารตามที่บอกข้างต้นก็ได้ สไลม์ยังทำจากวัสดุที่หลากหลายเช่น บอแรกซ์ กาวลาเท็กซ์ แป้งฝุ่น กาวใส แป้งข้าวโพด แป้งโยคี ก็ได้นะครับ เพียงแต่ว่า ชอบสูตรไหนก็เลือกทำตามจินตนาการนะครับ

ถ้าต้องการให้มีสีสันก็ผสมสีผสมอาหารช่วงที่นำมาผสมกัน จากนั้นนำมานวดให้ยาวเป็นเส้น ๆ ดึงยาว ๆ เป็นของเล่นเด็ก ๆ ได้ตามยุคทันสมัย ทันเหตุการณ์ ถ้าเด็ก ๆ อยากเป่าเป็นลูกโป่งก็ทำได้โดยการใช้หลอดกาแฟจิ้มเข้าไปในสไลม์ที่ทำสำเร็จแล้ว พอเป่าสไลม์ก็จะพองขึ้นเป็นลูกโป่งยักษ์ไปเลย   แต่มีเรื่องสำคัญที่อยากจะเตือน เด็ก ๆ ที่เอาบอแรกซ์มาทำสไลม์ ควรระมัดระวังล้างมือให้สะอาด มิฉะนั้นบอแรกซ์เข้าสู่ร่างกายจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย บางคนแพ้ถึงขนาดมึนศีรษะและเป็นผื่นขึ้นได้

อุปกรณ์ในการทำสไลม์
สไลม์
บรรยากาศการทดลอง
บรรยากาศการทดลอง

 

ข้อแนะนำสำหรับครู

ในการทำกิจกรรมนี้ครูอาจให้นักเรียนคิดความสัมพันธ์ต่าง ๆ เช่น ถ้าเป่าเป็นลูกโป่งยังษ์ความสัมพันธ์ของขนาดลูกโป่งกับปริมาณต่าง ๆ จะเป็นอย่างไร ถ้าหากต้องการให้เนียวขึ้นควรผสมสารอย่างไร นักเรียนคิดว่าเราสามารถนำสารอื่นมาใช้เพิ่มเติมได้หรือไม่


ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง
สาระที่ 3: สารและสมบัติของสาร
ว 3.1 ม.2/3 ทดลองและอธิบายการหลักการแยกสารด้วยวิธีการกรอง การตกผลึก การสกัด การกลั่น และโครมาโทกราฟี และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์

Comments

comments

You May Also Like