เสกน้ำขุ่นให้ใส เสกน้ำใสให้ขุ่น

ครูกับเด็กสนทนากัน

นักเรียน: ครูครับถือขวดน้ำอะไรครับ
ครู: น้ำวิเศษไง จะเสกน้ำใส ๆ ในขวดนี้ให้ขุ่น
นักเรียน: จะทำได้เหรอครับ
ครู: ได้สิ ถ้าอยากรู้เรามาท้าทดลองกันดีไหมครับ ลองทำตามนี้เลยครับ

อุปกรณ์ที่ใช้ ได้แก่ แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก กรวยกรอง กระดาษกรอง ปูนแดง (ปูนที่คุณยายเคี้ยวกับหมาก)

วิธีทำน้ำปูนใส

นำปูนแดงประมาณ 300 กรัม มาใส่ในขวดพลาสติกขนาด 1.5 ลิตร เติมน้ำให้สูงเท่ากับคอขวด จากนั้นเขย่าให้ปูนแดงละลาย ทิ้งไว้สักพัก ปูนแดงก็จะตกตะกอน น้ำจะใสขึ้น ค่อย ๆ รินเอาน้ำใส ๆ ใส่ขวดพลาสติกเปล่าอีกใบ เพื่อเตรียมไว้สำหรับนำไปทดลอง

วิธีทดลอง

เริ่มจากเทน้ำปูนใสลงในแก้วพลาสติกครึ่งแก้วจากนั้นนำหลอดพลาสติกมาจุ่มลงในแก้วน้ำปูนใส แล้วเป่า สังเกตว่าเกิดอะไรขึ้น เกิดน้ำขาวขุ่น และมีตะกอนด้วย

นักเรียน: แต่ถ้าอยากให้น้ำที่เป่าใสทำไงล่ะครับ
ครู: ง่ายนิดเดียว ก็นำมากรองด้วยกระดาษกรอง ก่อนอื่นต้องพับกระดาษกรองให้พอดีกับขนาดกรวยกรอง แล้วนำไปวางบนแก้วพลาสติกอีกใบ จากนั้นก็นำน้ำที่เราเป่าขุ่น ๆ ไปเทลงในกรวยกรอง น้ำที่กรองได้จะใสแจ๋ว เพราะกระดาษกรองจะมีรูพรุนเล็ก ๆ จะกรองเอาตะกอนขุ่น ๆ ติดค้างไว้ที่กระดาษกรองน้ำก็จะซึมผ่านกระดาษกรองลงไปยังแก้วพลาสติก ถ้านำน้ำที่กรองแล้วไปเป่าอีก น้ำก็จะกลับเป็นสีขาวขุ่นอีกเหมือนเดิม

การทดลองนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับปฏิกิริยาทางเคมี น้ำปูนใสมีชื่อทางเคมีว่า แคลเซียมไฮดรอกไซด์ เมื่อเราเป่าอากาศลงในน้ำปูนใส แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่อยู่ในร่างกายเราจะไปทำปฏิกิริยากับน้ำปูนใส ทำให้เกิดตะกอนขาวขุ่น ตะกอนขาวขุ่นนี้เรียกว่า หินปูน หรือชื่อทางเคมีว่า แคลเซียมคาร์บอเนต ถ้านำน้ำขาวขุ่นนี้ไปกรองด้วยกระดาษกรอง น้ำจะใสเหมือนเดิม

น้ำปูนใสเรานำไปใช้ประโยชน์ได้เช่นกัน เช่นนำไปแช่ผักผลไม้ที่เราจะนำไปดองไงล่ะครับ

สารในชีวิตประจำวันที่อยู่ใกล้ตัวเรา ปูนขาวหรือปูนแดงคุณยายก็นำไปผสมใบพลูและหมากไว้สำหรับเคี้ยว แต่ถ้านำไปละลายน้ำทิ้งไว้สักพักก็จะตกตะกอน ก็เทเอาเฉพาะน้ำใส ๆ นำไปแช่ผัก หรือผลไม้ที่จะนำไปดองจะทำให้ผักหรือผลไม้นั้นกรอบ น่ารับประทาน นั่นเองครับ

สารละลายกรดเบสส่วนมากเป็นสารใส ไม่สามารถแยกได้ด้วยตาเปล่า สารที่เป็นกรดมากจะเป็นอันตรายต่อร่างกาย เพราะจะกัดกร่อนเนื้อเยื่อร่างกายของเรา ในชีวิตประจำวันของเรามักจะเกี่ยวข้องกับสารละลายหลายอย่าง ทั้งเป็นกรดและเป็นเบส สารแต่ละชนิดมีความเป็นกรดเบสแตกต่างกันไป ในปี ค.ศ. 1909 ซอเรน ปีเตอร์ ลอริทซ์ ซอเรชัน นักชีวเคมี ได้ค้นพบวิธีบอกค่าความเป็นกรดเบสของสารด้วยค่า pH ซึ่งมาจากคำว่า Potential of Hydrogen Ions โดยเป็นค่าแสดงการเกิดปฎิกิริยาทางเคมีของไฮโดรเจนไอออน


ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง
สาระที่ 3: สารและสมบัติของสาร
ว 3.1 ม.1/3 ทดลองและอธิบายสมบัติความเป็นกรดและเบสของสารละลาย
ว 3.1 ม.2/3 ทดลองและอธิบายการหลักการแยกสารด้วยวิธีการกรอง การตกผลึก การสกัด การกลั่น และโครมาโทกราฟี และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์

 

Comments

comments

You May Also Like