กระดาษแปลงร่าง

นักเรียนครับ มองดูกระดาษขาว ๆ แผ่นนี้สิครับ นักเรียนคิดว่าเขาจะแปลงร่างจากกระดาษสีขาว เป็นสีเหลืองได้ไหม ถ้าอยากรู้เรามาทดลองกันเลยครับ

อุปกรณ์

  1. บีกเกอร์ขนาด 500 ลูกบาศก์เซนติเมตร
  2. ตะเกียงแอลกอฮอล์พร้อมจุด
  3. ผงขมิ้น 2 ช้อนโต๊ะ
  4. น้ำ 400 ลูกบาศก์เซนติเมตร
  5. กระดาษกรอง
  6. คีมคีบ

วิธีทำ
ขั้นแรก เทน้ำ 400 ลูกบาศก์เซนติเมตรลงในบีกเกอร์นี้ แล้วต้มด้วยตะเกียงแอลกอฮอล์ที่เตรียมไว้ ใส่ผงขมิ้นลงไป 2 ช้อนโต๊ะ ต้มให้เดือด จากนั้นใส่กระดาษกรองลงไป ทิ้งไว้ 5 นาที แล้วดับตะเกียง ใช้คีมคีบกระดาษกรองออก นำไปผึ่งให้แห้ง เมื่อกระดาษแห้งแล้วเราจะได้กระดาษสีเหลือง เป็นกระดาษขมิ้น แล้วนำมาตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ตามขนาดที่เราต้องการใช้แปลงร่างเป็นกระดาษขมิ้นครับ

ทีนี้มาดูต่อนะครับว่ากระดาษขมิ้นที่แปลงร่างจากกระดาษสีขาวนี้เราเอาไปทำอะไรกัน

ใครชอบทานอาหารกรุบกรอบ ลูกชิ้น หมูสับ ผลไม้ดอง หรือซื้ออาหารนอกบ้านบ่อย ๆ เราตัดกระดาษขมิ้นนี้มาแตะอาหารเปียก ๆ ถ้ากระดาษขมิ้นเปลี่ยนเป็นสีแดง แสดงว่าอาหารนั้นใส่สารบอแรกซ์แล้วล่ะ สารบอแรกซ์เป็นอันตรายต่อร่างกายนะครับ ถ้ารับประทานเข้าไปเยอะ ๆ เพราะเป็นสารที่ก่อให้เกิดพิษต่ออวัยวะภายในร่างกาย

นักเรียนมาทำกระดาษขมิ้นนี้ไว้ทดสอบสารบอแรกซ์กันดีกว่านะครับ ทำเองที่บ้านง่าย ๆ มีประโยชน์มาก ๆนะครับ กระดาษแปลงร่างเป็นการนำกระดาษกรองมาทำกระดาษขมิ้น เพื่อตรวจสอบสารบอแรกซ์ที่ผสมอยู่ในอาหาร โดยมีหลักการทางวิทยาศาสตร์ดังนี้ ขมิ้นนั้นมีสารเคอคูมิน (Curcumin) ซึ่งมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งคือจะทำปฏิกิริยากับโซเดียมบอเรต หรือสารบอแรกซ์ โดยจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีแดง การนำผงขมิ้นมาต้มแล้วใส่กระดาษกรองลงไป ทำให้สารเคอคูมินเกาะหรือซึมเข้าเนื้อเยื่อกระดาษกรอง เมื่อนำมาทำให้แห้ง จึงสามารถใช้ทดสอบสารบอแรกซ์ โดยเปลี่ยนกระดาษจากเหลืองเป็นสีแดงได้

จากความรู้เรื่องนี้จะเห็นว่าความรู้ที่เราเรียนในห้องเรียน เราสามารถนำมาทำกิจกรรมง่าย ๆ ได้ และกิจกรรมลักษณะนี้ยังเป็นประโยชน์กับชีวิตทุกคนได้ด้วย โดยเฉพาะการตรวจสอบสารเคมีในอาหาร


ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง
สาระที่ 3: สารและสมบัติของสาร
ว 3.2 ม.2/3 สืบค้นข้อมูลและอภิปรายผลของสารเคมี ปฏิกิริยาเคมีต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม

 

Comments

comments

You May Also Like