ระบบนิเวศกับความกลัว

“…น้ำขิงไปทัศนศึกษาที่ป่าแห่งหนึ่ง เพื่อนของเธอ LINE มาเล่าว่า เคยไปมาเมื่อ 2 ปีก่อน ที่นี่สวยมาก มีน้ำตกที่มีน้ำเย็นเจี๊ยบอยู่ใกล้ ๆ ค่ายพัก มีลำธารน้ำใสมากไหลผ่านหน้าที่พักอีกด้วย และที่น่าสนใจมาก ก็คือ ในลำธารมีปลาสีสวย ๆ ปู หอย ใกล้ลำธารยังมีแมลงปอ ผีเสื้อสีต่าง ๆ โดยเฉพาะสีเขียวตองอ่อน มีจำนวนมาก อยู่กันเป็นกลุ่มใหญ่ เธอรู้สึกตื่นเต้นมาก แต่ต้องผิดหวัง    เพราะเมื่อไปถึง ไม่เห็นผีเสื้อหลากสี ปลาที่ว่าสีสวยก็ไม่มีให้เห็น สัตว์และพืชบางชนิดมีจำนวนมากกว่าที่ได้รับรู้มา …”

น้ำขิงสงสัยว่า “ทำไม…” “เกิดขึ้นได้อย่างไร” เธอจึงได้เข้าสืบค้นจากอินเทอร์เน็ต เธอไม่พบคำตอบในสิ่งที่สงสัย แต่พบบทความน่าสนใจของนักนิเวศวิทยาหลายคณะเกี่ยวกับเรื่องของความกลัวของสัตว์ที่เป็นเหยื่อมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศ

นักนิเวศวิทยาคณะหนึ่งของ University of Victoria ประเทศแคนาดา ได้ศึกษาพบว่า แรคคูนซึ่งเป็นเหยื่อของสุนัขบ้านจะเกิดความกลัวเมื่อได้ยินเสียงของสุนัขบ้าน แม้ว่าจะไม่มีสุนัขปรากฏให้เห็น จากการศึกษาเป็นเวลา 1 เดือน ที่เกาะ 2 แห่ง โดยเปิดเสียงของสุนัขรวมทั้งเสียงของสัตว์อื่นผ่านลำโพงซึ่งติดตั้งไปตามชายฝั่งของเกาะพบว่า เวลาที่แรคคูนใช้ในการออกหากินลดลงร้อยละ 66 และยังพบอีกว่า ปู หอยและหนอนบางชนิด ซึ่งเป็นอาหารของแรคคูนมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณเหยื่อของสัตว์เหล่านี้ลดจำนวนลง นอกจากนี้ ปู ได้ปรับเปลี่ยนบริเวณที่ออกหาอาหาร จากเขตชายฝั่งที่จมในน้ำทะเล (subtidal) มาหาอาหารในเขตน้ำตื้นริมฝั่ง (intertidal) มากขึ้น เนื่องจากเดิมปูจะหลีกเลี่ยงบริเวณที่ได้กลิ่นสารเคมีของซากปูที่เหลือจากการกัดกินของแรคคูน แต่เมื่อแรคคูนออกหาอาหารน้อยลง จำนวนปูที่ถูกกินน้อยลง ส่งผลให้กลิ่นจากซากปูลดลง ปูที่ยังมีชีวิตจึงค่อย ๆ เข้ามาหาอาหารในเขตน้ำตื้นริมฝั่งมากขึ้น

นักนิเวศวิทยาอีกคณะพบว่า moose ซึ่งเป็นกวางขนาดใหญ่มีเขาแบน กวางชนิดนี้เป็นเหยื่อของหมี เมื่อเห็นหมี กวางจะเฝ้าระวังตัวมากขึ้น โดยจะยืดคอและเตรียมพร้อมที่จะวิ่งหนี

ecosystem moose

การอยู่ในท่านี้ทำให้ไม่สามารถเล็มกินต้นวิลโลว์เป็นอาหาร ทำให้ต้นวิลโลว์ถูกกินน้อยลง มีโอกาสเติบโตเพิ่มจำนวนและอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น พืชชนิดนี้เป็นแหล่งที่อยู่ของนก songbird เมื่อแหล่งที่อยู่อุดมสมบูรณ์ นก songbird ก็มาอาศัยอยู่ที่นี่กันมากขึ้น ทำให้มีสิ่งมีชีวิตในบริเวณนั้นมากชนิดขึ้นเกิดความหลากหลายทางชีวภาพ

การเป็นคนช่างสังเกต ช่างสงสัยและมักถามว่า “ทำไม…” ของน้ำขิงนำไปสู่การค้นคว้าจนได้ พบบทความเกี่ยวกับการศึกษาของนักนิเวศวิทยาทำให้เธอได้ความรู้มากขึ้นและรู้ว่า “ความกลัวของสัตว์ที่เป็นเหยื่อทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงได้” ทำให้เธอยิ่งอยากรู้มากขึ้นว่า ทำไมระบบนิเวศบริเวณป่าที่เธอไปมานั้นจึงเปลี่ยนแปลงไปเป็นอย่างที่เห็น

ข้อมูลเพิ่มเติม

Fear of predators can alter entire ecosystems. (2016). New Scientist. 229 (3062), pp9.

Eisenberg, C. Living in a Landscape of Fear: How Predators Impact an Ecosystem. The Sciences. Retrieved

March 23, 2016, from http://www.scientificamerican.com/article/predators-create-landscape-of-fear/


ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง

สาระที่ 2: ชีวิตกับสิ่งแวดล้อม
ว 2.1 วิเคราะห์และอธิบายความสัมพันธ์ของการถ่ายทอดพลังงานของสิ่งมีชีวิตในรูปของโซ่อาหารและสายใยอาหาร

สาระที่ 8: ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ว 8.1 ใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาศาสตร์ในการสืบเสาะหาความรู้ การแก้ปัญหา รู้ว่าปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่มีรูปแบบที่แน่นอนสามารถอธิบายและตรวจสอบได้ภายใต้ข้อมูลและเครื่องมือที่มีอยู่ในช่วงเวลานั้น ๆ เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สังคมและสิ่งแวดล้อมมีความสัมพันธ์กัน

Comments

comments

You May Also Like