พกถ่านกัมมันต์ติดตัวไว้เสมอ ดีกว่าหรือไม่

คนที่เคยเป็นโรคอาหารเป็นพิษย่อมรู้ดีว่าทรมานมากเพียงใด อาการเวียนศรีษะ ปวดมวนท้องเหมือนมีคนมาบิดไส้ อีกทั้งคลื่นไส้อาเจียนและถ่ายอุจจาระหลายครั้งติดต่อกัน ร่างกายขาดน้ำและแร่ธาตุเฉียบพลันจนถึงขั้น ทำให้หนาวสั่นเป็นไข้ หากไม่ได้รับการรักษาทันอาจถึงแก่ชีวิตได้ อาการดังกล่าวเกิดจากการที่เรารับประทานอาหารที่มีจุลินทรีย์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรียนต่าง ๆ ซึ่งจะผลิตสารพิษปนเปื้อนมาด้วยนั่นเอง จุลินทรีย์เหล่านี้จะผลิตสารพิษออกมา เมื่อสัมผัสกับผนังลำไส้ของเราจะก่อให้เกิดอาการต่าง ๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว ในระยะเวลาที่แตกต่างและหลากหลายหรือเกิดต่อเนื่องกันไป
หลายคนเมื่อมีอาการดังกล่าวจะรีบรับประทานน้ำดื่มเกลือแร่ และยาที่มีฤทธิ์ไปลดหรือระงับการอุจจาระร่วง ซึ่งกลายเป็นการเก็บเอาแบคมีเรียพิษร้ายไว้ในลำไส้ จึงยังคงปวดท้องทรมานไม่เลิก กลวิธีที่ดีคือหาทางป้องกันไม่ให้แบคทีเรียเหล่านั้นสัมผัสกับผนังลำไส้ และขับถ่ายออกจากร่างกายโดยเร็ว พร้อมทั้งป้องกันไม่ให้ร่างกายสูญเสียน้ำและแร่ธาตุพร้อมกันไป
ปัจจุบันมีการโฆษณาว่า ยาถ่านกัมมันต์ จะช่วยอาการดังกล่าวได้ แท้ที่จริงถ่านกัมมันต์ไม่ใช่ยาในความหมายที่ช่วยรักษาอาการเจ็บป่วนแต่อย่างใด แต่ด้วยคุณสมบัติที่มีรูพรุนที่มีขนาดเล็ก ๆ มีขนาดตั้งแต่ไมโครเมตร เล็กลงไปจนถึงระดับ นาโนเมตร จำนวนมาก ประมาณการว่า ถ่านกัมมันต์หนัก 1 กรัมจะมีพื้นที่ผิวถึง 400 -1,200 ตรม. (สนามฟุตบอล คือ 1,600 ตรม.) ดังภาพด้านล่าง ดังนั้น แบคทีเรีย ซึ่งมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 – 2 ไมโครเมตร จึงหลุดเข้าไปในรูพรุนของถ่านกัมมันต์ และออกมากับอุจจาระ อาการปวดท้องและอุจจาระร่วงจะค่อย ๆ หายไป และเมื่อเราดื่มน้ำเกลือแร่ด้วยก็จะช่วยให้ไม่เกิดอาการขาดน้ำและแร่ธาตุ ซึ่งการขาดน้ำและแร่ธาตุอาจทำให้มีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ภาพตัดขวางภายในถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon)

ในสภาพชีวิตปัจจุบัน ที่คนจำนวนมากฝากท้องไว้กับอาหารปรุงสำเร็จนอกบ้าน ความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อ โรคที่ติดมากับอาหารเหล่านั้นจึงสูงตามไปด้วย การมีถ่านกัมมันต์ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปติดตัวไว้ ย่อมเป็นการป้องกันตัวที่ดีแน่นอน
คำแนะนำสำหรับครู
การสร้างกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องนี้ ทำได้โดยใช้ถ่านกัมมันต์สาธิตให้นักเรียนเห็นประสิทธิภาพการกักเก็บสารขนาดเล็กมาก ด้วยการนำผงถ่านเทผสม รวมกับน้ำด่างทับทิม เมื่อกรองออกจะเห็นน้ำที่ได้ใสไม่มีสีของด่างทับทิมเจือปนเลย จากนั้น ให้นักเรียนระดมความคิดว่าจะนำถ่านกัมมันต์นี้ ไปใช้ประโยชน์ทำอะไรได้บ้าง และจะออกแบบสิ่งนั้นอย่างไรในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ครูกำหนดขึ้น เช่น น้ำท่วมขาดแคลนน้ำสะอาดดื่ม นักเรียนอาจนำไปทำเครื่องกรองแบบพกพาได้


ข้อมูลเพิ่มเติม
ระบบการดูดซับสารพิษของถ่านกัมมันต์ โดย กรมควบคุมมลพิษ
สาระของถ่านกัมมันต์ ในหัวข้อ สาระน่ารู้ ถ่านปลุกฤทธิ์ โดย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ

ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง
สาระที่ 1 : สิ่งมีชีวิตกับกระบวนการดำรงชีวิต
ว 1.1 ม.2/1 อธิบายโครงสร้างและการทำงานของระบบย่อยอาหาร ระบบหมุนเวียนเลือด ระบบหายใจ ระบบขับถ่าย ระบบสืบพันธุ์ ของมนุษย์และสัตว์ รวมทั้งระบบประสาทของมนุษย์

Comments

comments

You May Also Like