เศษส่วนกับลายนิ้วมือ

ฉากจากละครไทยตอนหนึ่ง พระเอกสวมถุงมือและแอบขึ้นบ้านของตัวโกงเพื่อค้นหาเอกสารสำคัญบางอย่างเพื่อช่วยนางเอกที่ถูกกลั่นแกล้ง เหตุที่พระเอกต้องสวมถุงมือเพราะไม่ต้องการทิ้งร่องรอยลายนิ้วมือของตนเองไว้ พระเอกของเราทำแบบนี้เพราะทราบว่าตำรวจสามารถเก็บลายนิ้วมือแฝงในที่เกิดเหตุ และใช้เป็นหลักฐานมัดตัวเจ้าของลายนิ้วมือได้ ความจริงเกี่ยวลายนิ้วมือที่เป็นที่ยอมรับกันคือ ทุกคนมีลายนิ้วมือต่างกัน ยังไม่พบว่าคนสองคน มีลายนิ้วมือเหมือนกันเป๊ะทุกนิ้ว ลายนิ้วมือของทุกคนไม่เปลี่ยนแปลงไปตามอายุ โดยทั่วไปลายนิ้วมือแยกเป็นกลุ่ม ได้สามลายด้วยกันคือ ลายบ่วง (loop) พบในคน 60-65% ลายก้นหอย (whorl) พบในคน 30-35% และลายโค้ง (arch) พบน้อยที่สุดเพียง 5% ระบบที่หน่วยงาน FBI ใช้เพื่อคัดกรองคนดีออกจากกลุ่มผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนร้ายเขาใช้เศษส่วน โดยกำหนดให้ ลายก้นหอยแทน 1 ส่วนลายบ่วงและลายโค้งแทน 0 สมมติว่าคนร้ายใจดีมาก ๆ ทิ้งร่องรอยลายนิ้วมือ ในที่เกิดเหตุไว้ครบทั้งสิบนิ้ว ตำรวจจะคำนวณN = (16 x นิ้วชี้ขวา) + (8 x นิ้วนางขวา) + (4 x หัวแม่มือซ้าย) + (2 x นิ้วกลางซ้าย) + (นิ้วก้อยซ้าย) + 1

จากนั้นคำนวณ

D = (16 x หัวแม่มือขวา) + (8 x นิ้วกลางขวา) + (4 x นิ้วก้อยขวา) + (2 x นิ้วชี้ซ้าย) + (นิ้วนางซ้าย) + 1

ด้วยวิธีการนี้ เศษส่วน N/D แยกเป็น 1024 กลุ่มย่อย ทำให้การคัดแยกผู้ต้องสงสัยเป็นระบบ ตีวงแคบลงอย่างรวดเร็ว ใครก็ตามที่มี N/D ต่างจากที่ตำรวจคำนวณไว้ก็รอดคุกไปตามระเบียบ


ข้อมูลเพิ่มเติม
http://shs2.westport.k12.ct.us/forensics/04-fingerprints/classification.htm


ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง
สาระที่ 1 : จำนวนและการดำเนินการ
ตัวชี้วัด : ค 1.1 ม.1/1 บวก ลบ คูณ หารจำนวนเต็ม และนำไปใช้แก้ปัญหา ตระหนักถึงความสมเหตุสมผลของคำตอบ อธิบายผลที่เกิดขึ้นจากการบวก การลบ การคูณ การหาร และบอกความสัมพันธ์ของการบวกกับการลบ การคูณกับการหารของจำนวนเต็ม
: ค 1.2 ม.1/2 บวก ลบ คูณ หารเศษส่วนและทศนิยม และนำไปใช้แก้ปัญหา ตระหนักถึงความสมเหตุสมผลของคำตอบ อธิบายผลที่เกิดขึ้นจากการบวก การลบ การคูณ การหาร และบอกความสัมพันธ์ของการบวกกับการลบ การคูณกับการหารของเศษส่วนและทศนิยม

Comments

comments

You May Also Like