เมืองปูน แก่งคอยสระบุรี บ้านเราทำไมไม่มีเหมือนเขาบ้าง

หากนั่งรถผ่านแถวแก่งคอย สระบุรี พระพุทธบาท ต่อไปลพบุรีทีไร จะเห็นรถขนหินปูนคันใหญ่ ๆ วิ่งกันฝุ่นตลบ โรงปูนก็เยอะ และ ภูเขาหินปูนเยอะมาก ทำไมแถวนี้มีโรงปูนซิเมนต์เยอะมาก ๆ เหตุผลก็เพราะหินที่เหมาะจะนำมาทำปูนซีเมนต์นั้นถึงแม้จะมีแร่แคลไซต์เป็นองค์ประกอบหลัก แต่ไม่ใช่ทุกแห่งจะมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่เหมาะสมเหมือนกัน หินปูนที่ใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์จะต้องมีแคลเซียมออกไซด์ 50% ขึ้นไป แมกนีเซียมออกไซด์ (จากแร่โดโลไมต์)ไม่เกิน 3% ซิลิกาไม่เกิน 8% และปริมาณแอลคาไลรวม (Na2O+K2O) ไม่เกิน 1%

เราแบ่งหินปูนที่นำมาใช้ผลิตปูนซีเมนต์ตามช่วงอายุทางธรณีกาลได้เป็น 3 ช่วงกว้าง ๆ คือ 1) ยุคออร์โดวิเชียน
กระจายทางเทือกเขาด้านตะวันตกของประเทศ โดยเฉพาะในจังหวัดสตูล ตรัง นครศรีธรรมราช และจังหวัดกาญจนบุรีซึ่งหินปูนยุคนี้ โรงงานปูนซีเมนต์ในจังหวัดนครศรีธรรมราชใช้เป็นวัตถุดิบ ทางภาคเหนือมีที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน 2) ยุคเพอร์เมียน ซึ่งเป็นช่วงที่มีหินปูนสะสมตัวต่อเนื่องมากจากยุคคาร์บอนิเฟอรัสตอนปลาย และเกิดเป็นชั้นหนาหลายช่วง มีการแพร่กระจายกว้างขวางที่สุดในประเทศ เป็นวัตถุดิบสำหรับ โรงงานปูนซีเมนต์ในเขตจังหวัดสระบุรี นครสวรรค์และเพชรบุรี 3) ยุคไทรแอสซิก มีการแพร่กระจายที่จำกัดอยู่ในจังหวัดภาคเหนือบริเวณจังหวัดลำปาง เชียงราย แพร่ น่าน เป็นหินปูนที่โรงงานปูนซีเมนต์ที่จังหวัดลำปางใช้ในการผลิตปูนซีเมนต์

เขาหินปูนจะมีลักษณะ ยอดแหลม แนวสันเขาไม่เรียบ มักมีหน้าผาสูงชัน อาจเห็นโพรงและปากถ้ำ บริเวณผิวของเขาหินปูนทั่วไป จะเกิดร่องและสันเป็นแนวยาวขนานกันในแนวดิ่ง บางบริเวณจะพบผิวที่เป็นหลุมกลมขนาดเล็ก ติดต่อกันเป็นจำนวนมาก บริเวณขอบหลุมจะบางและคม ลักษณะดังกล่าวของภูเขา เป็นผลเนื่องมาจาก หินปูน สามารถละลายได้ในน้ำฝน และประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตภูมิอากาศร้อนชื้น-ฝนตกชุก ดังภาพ

เขาหินปูน

การทำโรงงานปูนซิเมนต์นั้น นอกจากมีแหล่งหินปูนแล้วยังต้อง พิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เนื่องจากการผลิตปูนซีเมนต์มีการใช้หินปูนจำนวนมาก ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะต้องคำนึงถึงคือ ความสม่ำเสมอ ขององค์ประกอบหรือมีความแปรปรวนขององค์ประกอบน้อย ทำให้สามารถปรับส่วนผสมเพื่อควบคุมคุณภาพ ได้โดยสะดวก นอกจากนี้ หินปูนแหล่งที่ใช้จะต้องมีปริมาณหินสำรองเพียงพอสำหรับป้อนโรงงานซึ่งมักมีช่วงอายุดำเนินงาน 20-25 ปีด้วย ดังนั้นถึงแม้ในพื้นที่ของชุมชนของเราจะมีภูเขาหินปูน เราก็ยังสามารถคิดใช้ประโยชน์จากเรื่องนี้ในแง่อื่นได้ เช่น การท่องเที่ยวเชิงนิเวศได้อีกด้วย ซึ่งจะส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นได้ง่ายกว่าการใช้หินปูนเพื่อผลิตซีเมนต์

ครูสามารถส่งเสริมการคิดพิจารณาและตัดสินใจอย่างมีวิจารณญาณได้ด้วยการ ให้โจทย์ว่าความคุ้มค่า ในการผลิตซีเมนต์ในภาวะปัจจุบันเป็นอย่างไร ด้วยการสืบค้นข้อมูล ปริมาณการผลิต และการใช้ปูนซีเมนต์ ในประเทศ และลองคาดคะเน (ใช้คณิตศาสตร์สร้างกราฟเปรียบเทียบ) ว่า หากมีการผลิตจากแหล่งหินปูนของเราจะเกินกำลังการบริโภคหรือไม่ สมควรหันไปทำอย่างอื่น เช่น ท่องเที่ยวเชิงนิเวศหรือไม่

ข้อมูลเพิ่มเติม
http://fieldtrip.ipst.ac.th/intro_sub_content.php?content_id=29&content_folder_id=451 – ทัศนศึกษาออนไลน์ สสวท. ให้รายละเอียดลักษณะองค์ประกอบหินปูน
http://fieldtrip.ipst.ac.th/intro_sub_content.php?content_id=29&content_folder_id=452 – ทัศนศึกษาออนไลน์ สสวท. ให้รายละเอียดลักษณะภูเขาหินปูน
http://www.neutron.rmutphysics.com/teaching-glossary/index.php?option=com_content&task=view&id=7693&Itemid=15 – บทความเรื่องเครื่องดักจับอนุภาคด้วยไฟฟ้าสถิตย์
http://www2.diw.go.th/I_Standard/Web/pane_files/Industry8.asp – อุตสาหกรรมการทำปูนซิเมนต์ในเมืองไทย
http://thaicma.or.th/cms/cement-partnership-project-th-TH/ – แนวทางการทำปูนซิเมนต์แบบอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ ท้องถิ่นของสมาคมปูนซิเมนต์


ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง
สาระที่ 6: กระบวนการเปลี่ยนแปลงของโลก
ว 6.1 ม.2/4 ทดสอบและสังเกตองค์ประกอบและสมบัติของหิน เพื่อจำแนกประเภทของหินและนำความรู้ไปใช้ประโยชน์

Comments

comments

You May Also Like