น้ำหวานกลายเป็นไอติมแสนอร่อยได้ไง ?

ครูคนหนึ่งเดินเข้ามาในห้องเรียน นักเรียนบอกทำความเคารพ

ครู: สวัสดีนักเรียน ขอให้เป็นคนดี คนเก่ง ได้เกรด 4 ทุกวิชา

แล้วครูก็หยิบแก้วน้ำขึ้นมา

ครู: นี่น้ำหวานของครู สถานะเป็นอะไร
นักเรียน: ของเหลว (ตอบพร้อมกันทั้งห้อง)
ครู: ต่อไปครูจะปั้นน้ำเป็นตัว แข็งโป๊กเลยล่ะครับ
นักเรียน (หลังห้องตะโกนมา): ทำไงครับครู
ครู: ง่ายนิดเดียวมาลองทำไหม ?

อุปกรณ์ที่ครูใช้ในวันนี้ มีถุงซิปล็อคขนาด 11 ซม. x 8 ซม. ถังใส่น้ำขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 19 ซม. น้ำแข็ง 1 ถุง เกลือ 2 ถุง และน้ำหวานที่ครูถือมาในห้อง

วิธีทำ

นำน้ำหวานเทใส่ถุงซิปล็อคให้เกือบเต็ม ปิดให้สนิท แล้วใส่ในถังที่เตรียมไว้ จากนั้นนำน้ำแข็งใส่ถังให้เต็ม โรยเกลือลงไป 2 ถุง แล้วหมุนถังไปมาประมาณ 5 นาที น้ำหวานในถุงจะกลายเป็นไอติม

ครู : นักเรียนที่รัก น้ำหวานเมื่อกี้กลายเป็นไอติมแล้ว สถานะไอติมเรียกว่าอะไรครับ
นักเรียน : ของแข็งครับ
ครู: นักเรียนจะใช้วัสดุอื่นแทนถุงซิปล็อกก็ได้นะครับ เช่นใช้หลอดทดลอง แล้วใช้ไม้เสียบลูกชิ้น
ใส่เป็นที่จับไอติม หลักการทำให้น้ำเปลี่ยนสถานะเป็นน้ำแข็งใช้หลักการเดียวกัน เวลาอยูบ้านอากาศร้อน ๆ มาทำไอติมกันนะครับ
นักเรียน: เย้
ครู: นักเรียนช่วยกันหาคำตอบด้วยนะครับว่า น้ำหวานหรือน้ำธรรมดา กลายเป็นไอติมแสนอร่อยได้ไง

หลักการทางวิทยาศาสตร์ของเรื่องนี้คือ เมื่อเราใส่น้ำหวานลงในถุงซิปล็อก แล้วปิดปากถุง นำไปใส่ถังน้ำที่มีน้ำแข็งแล้วโรยเกลือใส่ลงไป หมุนถังส่ายไปมาเพื่อให้เกลือละลายไปทั่วถังน้ำ ที่ทำเช่นนี้ก็เพราะเกลือจะไปดูดความร้อนออกมาจากน้ำแข็ง ทำให้น้ำแข็งมีอุณหภูมิต่ำกว่าเดิม แล้วทำให้น้ำหวานในถุงหรือน้ำหวานในหลอดแก้วแข็งตัวเร็วขึ้น จึงได้ไอติมแสนอร่อย ถ้าต้องการรับประทานเลยทานทันที นำถุงไอติมมาจุ่มน้ำเวลารับประทานจะไม่เค็ม หรือนำไอติม หลอดแก้วนำมาจุ่มน้ำ เพราะจะได้ดึงไอติมออกจากหลอดได้ง่ายขึ้น

น้ำนม น้ำหวานหรือน้ำอื่น ๆ ที่นำมาทำไอติม จะแข็งตัวเร็วช้าต่างกันขึ้นอยู่กับความเข้มข้น และความหนืดของสารนั่นเอง
ไอติมหรือไอศกรีมมีสารต่าง ๆ ประกอบอยู่มากมาย บางชนิดทำด้วยครีม นมสดและนมพร่องมันเนย และยังมีน้ำตาลเป็นสารให้ความหวานอยู่ด้วย ไอศกรีมที่เราทำเองง่าย ๆ อาจละลายเร็ว แต่ที่เราซื้อรับประทานจะละลายช้าเพราะว่ามีสารคงสภาพประกอบอยู่ด้วย สารนี้จะทำให้อาหารมีความหนืดสูง โดยทั่วไปแล้วจะใส่ สารนี้ลงไปไม่เกินหนึ่งเปอร์เซนต์ สำหรับไอศกรีมที่ทานแล้วรู้สึกนุ่ม ๆ ก็เพราะว่ามีอากาศอยู่ภายในนั้นเอง โดยขั้นตอนในการทำไอศกรีมที่นำมาขายให้กับพวกเรามักมีขั้นตอนดังนี้

  1. ผสมส่วนประกอบต่าง ๆ ร่วมทั้งรสที่ต้องการ เช่น สตรอเบอรี่ วานิลลา
  2. ผสมอากาศเข้าไปในเนื้อไอศกรีม
  3. ฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อน
  4. แช่แข็งจนไอศกรีมมีเนื้อนุ่ม ถ้าเป็นแบบเม็ดจะใช้ไนโตรเจนเหลว
  5. พิมพ์ด้วยแม่พิมพ์
  6. บรรจุพร้อมจำหน่าย

จะเห็นว่าในการทำไอศกรีมนั้นมีกระบวนการทางวิทยาศาสตร์อยู่มากมาย หากเราทำง่าย ๆ ไว้ทานเองก็พอได้ แต่ถ้าหากต้องการผลิตจำหน่าย เราจะต้องนำความรู้ต่าง ๆ มาปรับปรุงให้ดี เพื่อให้เป็นไอศกรีมที่อร่อยและถูกใจทุก ๆ คนนั้นเอง

 


ตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้อง
สาระที่ 3: สารและสมบัติของสาร
ว 3.2 ม.1/2 ทดลองและอธิบายการเปลี่ยนแปลงสมบัติ มวล และพลังงานของสาร เมื่อสารเปลี่ยนสถานะและเกิดการละลาย

Comments

comments

You May Also Like